พม่าได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนาและพุทธเจดีย์ พุทธศาสนิกชนชาวพม่าต่างให้ความเคารพในพระสงฆ์ซึ่งถือเป็นเนื้อนาบุญและเป็นที่พึ่งแห่งกุศล แต่ภายใต้ร่มเงาแห่งพุทธศาสนานั้น สังคมพม่ายังคงแฝงไปด้วยกลิ่นอายความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาผีอยู่ไม่น้อย และที่ปรากฏเป็นภาพเด่นชัดคือ การบูชานัต ดังพบว่าภายในบ้านของชาวพม่าบางบ้านมีหิ้งบูชานัตตั้งอยู่ใกล้หิ้งพระพุทธรูป หลายบ้านปลูกศาลคล้ายศาลพระภูมิ ไว้ที่หน้าบ้าน ในขณะที่ริมทางตามต้นไม้ใหญ่ยังมีศาลนัตอยู่ทั่วไป แม้แต่ในเขตลานพระเจดีย์ยังพบว่ามีรูปนัต ปั้นเป็นองค์เทพ เทวี ผู้เฒ่า รูปยักษ์ เห็นชัดว่าชาวพม่าจำนวนไม่น้อยยังคงกราบไหว้บูชานัต ทั้งที่บ้านและที่สาธารณะ ตลอดจนในเขตพุทธสถาน (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:143)
คำว่า “นัต” ปราชญ์ชาวพม่า เชื่อว่าคำนี้น่าจะมาจากคำว่า นาถ ในภาษาบาลี หมายถึง “ผู้เป็นที่พึ่ง” ตามกล่าวไว้ในตำรานิรุกติศาสตร์เก่าแก่เล่มหนึ่งของพม่า คือ โวหารลีนตฺถทีปนี แต่งโดย มหาเชยสงขยา และในสารานุกรมพม่า เล่ม 6 ได้นิยามคำว่า นัตไว้ในทำนองเดียวกัน โดยจัดแบ่งนัตไว้ 3 ส่วน คือ วิสุทินัต คือ ผู้บริสุทธิ์ อันหมายถึง พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ อุปปตฺตินัต คือ เทวดาและพรหมาที่อยู่บนสรวงสวรรค์ และ สมฺมุตินัต คือ พระราชา พระราชินี ตลอดจนราชบุตรราชธิดา นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเทพประจำจักรวาลว่าเป็นนัต เช่น เทพประจำดาวนพเคราะห์ สุริยเทพ จันทราเทพ อัคนีเทพ และวาโยเทพ ดังนั้นนัตตามนัยของคำว่า นาถ นี้ ก็คือ เหล่าเทพเทวาบนชั้นฟ้าตลอดถึงผู้ประเสริฐและผู้ทรงอำนาจบนโลกมนุษย์ ถือเป็นนัตตามโลกทัศน์ในพุทธศาสนา ส่วนพจนานุกรมพม่า ของรัฐบาลเมียนมาร์ กล่าวถึงนัตไว้ 3 นัย ได้แก่ 1. เทพอุปปัติทรงฤทธิ์คุ้มครองมนุษย์ 2.วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของผู้ตายร้าย และ 3. คำขยายสิ่งซึ่งอุบัติขึ้นเอง เช่น นัตสะบา “ข้าวนัต หรือ ข้าวป่า” และ นัตเย-ดวีง “สระนัต หรือ สระรรมชาติ” เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจึงถือว่าเป็นด้วยอำนาจแห่งนัต ดังนั้นนัตตามคติของชาวพม่าจึงหมายถึง ผู้ทรงฤทธิ์ เป็นได้ทั้งเทพยดาและวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่รวมถึงพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ตลอดจนพระราชา หรือ ราชตระกูล (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:143-144)
ชาวพม่า เชื่อว่า มนุษย์ประกอบด้วยร่างกาย ที่เรียกว่า โก่ก่ายะ และ ขวัญ ที่เรียกว่า เละปยา เมื่อตายไปขวัญจะกลายเป็นดวงวิญญาณล่องลอยอยู่ในโลก สามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้คนทั่วไปได้ หรืออาจเข้าสิงร่างของผู้อื่นและบังคับให้ผู้นั้นกระทำสิ่งต่างๆ ตามความประสงค์ของดวงวิญญาณ และเมื่อพิจารณาสภาพการกลายเป็นนัตของคนพม่าแล้วจะเห็นว่าสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องดวงวิญญาณ คือ ธาตุที่ไม่ดับสูญ ในหนังสือ โตงแซะคุนิจ์มีง หรือ นัต 37 ตน เขียนโดย อูโพจา ได้บรรยายเรื่องนัตไว้ว่า “เรื่องการกลายเป็นนัตนั้นจดจำแลเชื่อกันว่า ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคนเผ่าพันธุ์ใดกษัตริย์หรือสามัญชน มั่งมีหรือยากไร้ หญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ หากแต่เป็นผู้ที่คนทั่วไปยกย่อง ยึดเป็นที่พึ่งได้และเป็นผู้ที่มีเมตตา ยามตายก็จากไปอย่างน่าเวทนา เมื่อผู้คนทั่วไปรับรู้ จึงบังเกิดความสะเทือนใจ โจษจันกันไปทั่ว วิญญาณของผู้นั้นจึงกลายเป็นนัต” (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:145)
ชาวพม่าติดต่อกับนัตในหลายรูปแบบ มีทั้งการกราบไหว้ เซ่นสรวง ลงทรง เพื่อขอความคุ้มครอง บนบานศาลกล่าว หรือบัดพลีเมื่อคำขอเป็นผลสัมฤทธิ์ รูปแบบของการเซ่นไหว้นัตในเรือน นัตตามศาล และนัตที่อยู่รายรอบพระเจดีย์นั้นส่วนใหญ่กระทำคล้ายๆกัน จะแตกต่างกันอยู่บ้างขึ้นอยู่กับนัตแต่ละตน เช่น นัตบางตนนิยมมังสวิรัติ กินเฉพาะผลไม้ ดอกไม้ ใบไม้ นัตบางตนชอบอาหารดิบ เช่น ปลาดิบ เนื้อดิบ นัตบางตนชอบของมึนเมา ดื่มเหล้าเมามายยามประทับทรง และบางตนชอบบุหรี่ เป็นต้น (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:161)
ความเชื่อเกี่ยวกับนัตของชาวพม่าในส่วนที่เกี่ยวกับนัตตามนัยของผีอารักษ์นั้นดูจะเป็นความเชื่อพื้นถิ่นที่ปรากฏอยู่คู่สังคมพม่ามายาวนานยิ่งกว่าพุทธศาสนา บทบาทของนัตในความเชื่อของพม่าดั้งเดิมมีความสำคัญถึงระดับร่วมสร้างบ้านแปงเมืองในพุกามยุคแรกๆ จนได้รับความสำคัญเป็นมิ่งเมือง เป็นไปได้ว่าในยุคของพระเจ้าอโนรธา การรับพุทธศาสนาจากภายนอกได้ทำให้นัตในคติความเชื่อพื้นถิ่นถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงนัตที่คอยพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา แต่อย่างไรก็ตามชาวพม่าไม่อาจปฏิเสธอำนาจนัตอย่างสิ้นเชิง สังคมพม่าจึงเป็นสังคมพุทธที่แฝงอยู่ด้วยความเชื่อในนัตระคนกัน (วิรัช นิยมธรรม และ อรนุช นิยมธรรม, 2551:168)
www.sac.or.th
No comments:
Post a Comment